ลักษณะประจำพันธุ์
ระยะแตกกอเต็มที่
– มีขนบนแผ่นใบ
– สีของแผ่นใบมีสีเขียว
– สีของกาบใบมีสีเขียว
– มุมของยอดแผ่นใบตั้งตรง
– สีของลิ้นใบมีสีขาว
– รูปร่างของลิ้นใบมีลักษณะแหลม
– หูใบมีสีเขียวอ่อน
– ข้อต่อใบมีสีเขียวอ่อน
ระยะออกรวง
– เส้นผ่านศูนย์กลางของลำต้น 2.6 มิลลิเมตร
– ปล้องมีสีเขียว
– ทรงกอตั้ง
– ยอดเกสรตัวเมียมีสีขาว
– กลีบรองดอกสีฟาง
– ไม่มีหางข้าว
ลักษณะเด่น
ข้าวดอกข่า เป็นข้าวไร่พันธุ์พื้นเมืองที่มีความต้านทานต่อโรค เมล็ดยาว สีของเมล็ดข้าวสารมีสีน้ำตาลแดงอมม่วง เมื่อสุกจะมีกลิ่นหอม คล้ายกลิ่นใบเตย รสชาติอร่อย ข้าวไม่แข็ง หุงขึ้นหม้อ
วิธีการปลูก
ใช้วิธีการหยอดหลุม วิธีนี้ใช้กันทั่วไป เหมาะกับทุกสภาพ โดยเฉพาะพื้นที่ลาด โดยการทำไม้สำหรับเจาะหลุม เรียกว่า ไม้สัก ยาวประมาณ 2 เมตร เป็นลักษณะกลมพอเหมาะกับมือ เจาะหลุมให้ลึก ประมาณ 3 เซนติเมตร ขนาดหลุมกว้าง 1 นิ้ว ระยะห่างของหลุม ประมาณ 25×25 เซนติเมตร หลังจากนั้น หยอดเมล็ดข้าวลงในหลุมทันที ซึ่งเกษตรกรใช้กระบอกไม้ไผ่หรือกระบอกที่ทำจากท่อ พีวีซี นำเมล็ดข้าวใส่แล้วหยอด หลุมละ 5-8 เมล็ด กลบดินปากหลุมด้วยกระบอกที่ใส่ข้าวปลูก เมื่อฝนโปรยลงมาหรือเมล็ดได้รับความชื้นจากดินก็จะเจริญเติบโตเป็นต้นข้าวให้ผลผลิตต่อไป การปลูกข้าวไร่ เกษตรกรจะต้องหมั่นดูแลกำจัดวัชพืช เพราะในที่ดอนจะมีวัชพืชมากกว่าในที่ลุ่ม
ระยะเวลาปลูก
เริ่มปลูกเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม เก็บเกี่ยวเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม
พื้นที่ปลูก ประมาณ 1,200 ไร่ อยู่ในพื้นที่ตำบลบางทอง อำเภอท้ายเหมือง และตำบลตากแดด อำเภอเมืองพังงา ผลผลิตเฉลี่ย ประมาณ 400 กิโลกรัม/ไร่
การเก็บเกี่ยว
ใช้วิธีการ “ลงแขก” ซึ่งเป็นประเพณีและภูมิปัญญาที่สืบทอดกันมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ควรค่าแก่การอนุรักษ์ไม่ให้สูญหายไป สำหรับอุปกรณ์ที่ใช้ในการเก็บเกี่ยวข้าวไร่ เรียกว่า “แกระ” โดยจะเกี่ยวทีละรวง แล้วมัดเป็นกำๆ ตากแดด 3-5 วัน
ที่มา : http://info.matichon.co.th
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น